เทคโนโลยี

เทคโนโลยี   |   September 14, 2021

เกาหลีใต้ ออก กม. ห้าม Apple – Google กีดกั้นช่องทางจ่ายเงินภายนอก

เกาหลีใต้ ออก กม. ห้าม Apple – Google กีดกั้น

เกาหลีใต้ ได้ประกาศถึงการออกกฎหมายที่มีใจความสั่งห้ามไม่ให้มีการกีดกั้นช่องทางจ่ายเงินภายนอกโดยแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Apple และ Google

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เกาหลีใต้ ได้ทำการประกาศถึงการออกกฎหมายธุรกิจการสื่อสารแห่งชาติ (Nation’s Telecommunications Business Act) ที่ในนั้นก็มีการควบคุมไม่ให้มีการกีดกั้นช่องทางจ่ายเงินภายนอกโดยแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Apple และ Google

โดย กม. ดังกล่าวนั้น ได้ผ่านการรับรองจากรัฐสภา และจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อประธานาธิบดีมุนแจอิน เซ็นรับรองเรียบร้อย ซึ่งก็เป็นกฎหมายที่พรรคของ ปธน. ได้สนับสนุนอยู่

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า กม. นี้ ส่วนหนึ่งของเนื้อหานั้นจะมีการควบคุมไม่ให้มีการกีดกั้นช่องทางจ่ายเงินภายนอกโดยแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือก็คือ แพลตฟอร์มจะไม่สามารถบังคับให้ผู้พัฒนาต้องใช้งานช่องทางชำระเงิน, ยกเลิก และคืนเงินผ่านระบบของตัวเองได้อีกต่อไป โดยผู้พัฒนานั้นสามารถมีสิทธิ์เลือกที่จะใช้งานช่องทางชำระเงินภายนอกได้ เนื่องด้วยเหตุผลทางผลประโยชน์

ซึ่งบริษัทอย่าง Apple และ Google ที่ให้บริการแพลตฟอร์มอย่าง App Store และ Google Play นั้น ได้มีการให้บริการช่องทางชำระเงินของตัวเอง โดยทำการหักส่วนแบ่งที่ได้ของผู้พัฒนา/บริษัทที่นำเอาผลิตภัณฑ์ หรือบริการลงไว้บนแพลตฟอร์มที่ว่านี้ เป็นจำนวน 30% จากทั้งหมด

ถึงแม้ว่าทาง Google จะเปิดให้สามารถใช้งานช่องทางชำระเงินภายนอกได้ แต่ก็ยังถือว่าเป็นส่วนน้อย และตัวช่องทางของ Google เองยังคงมีการใช้งานมากที่สุด ทางด้านของ Apple นั้น จะเป็นการบังคับใช้ของตัวแพลตฟอร์มเป็นหลัก จนเกิดการฟ้องร้อง และสิ้นสุดลงไปเป็นที่เรียบร้อย เมื่อไม่นานมานี้

ปัญหาเรื่องช่องทางการชำระเงินภายนอกของแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ นั้น ถือว่าเป็นอะไรที่เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังคดีความ Epic vs. Apple ที่ทำให้เกิดการเรียกร้องให้มีการพิจารณาถึงช่องทางชำระเงินทางเลือก เพื่อผลประโยชน์ของผู้พัฒนา

และเป็นที่แน่นอนว่า Epic นั้น ได้ทำการโพสต์ข้อความยินดีผ่านช่องทาง Twitter ว่า การผ่านกฎหมายดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการต่อสู้เพื่อนำมาซึ่งความเป็นธรรมบนระบบเศรษฐกิจออนไลน์

จากการผ่าน กม. ที่ว่านี้ ทำให้นี้ถือว่าเป็นก้าวที่ 2 ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมส์ของประเทศเกาหลีใต้ ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ทำการยกเลิกกฎหมายควบคุมเวลาการเล่นเกมส์ หรือ Cinderella Law โดยจะทำการหาแนวทางอื่น ๆ มาดำเนินการแทน